โครงการ“หอศิลป์บริการ” (Museum Serve)
ดำเนินงานโดย กลุ่ม ชั่ว คราว
แนวความคิดหลัก
พื้นที่ทางศิลปะจากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีวิวัฒนาการมาอย่างหลากหลาย ในอดีตพื้นที่ทางศิลปะถูกสร้างขึ้นมาจากขอบเขตทางศาสนาซึ่งคือเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คนและวิถีชีวิตในสังคม ภาพเขียนภายในวัดหรือโบสถ์หรือในโบราณสถานต่างๆ เชื่อมโยงพื้นที่ชุมชนและวิถีชีวิตของผู้คนด้วยกันกับศิลปะอย่างแนบแน่น ในยุคสมัยต่อมา ศิลปะได้เริ่มมีพัฒนาการ สร้างพื้นที่และขอบเขตที่เป็นของตัวเอง และเป็นเอกเทศจากวิถีชีวิตปกติของผู้คน การจัดประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ(2492) การเกิดขึ้นของหอศิลป์แห่งชาติ (2517) หรือการเกิดขึ้นของพื้นที่ทางศิลปะที่เป็นทางการต่างๆ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศิลปะในยุคสมัยใหม่ ซึ่งคือการจัดการแบ่งแยกสัดส่วนในองค์ประกอบต่างๆ เพื่อการพัฒนาที่ชัดเจนและเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้วงการศิลปะสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเกาะเกี่ยวกับการดำรงชีวิต หรือพึ่งพาการรับรู้ของผู้คนในสังคม กล่าวคือ แม้ไม่มีสังคมคอยรับรู้ หรือแม้แต่เข้าใจงานศิลปะ วงจรของศิลปะก็ยังสามารถขับเคลื่อนไปได้ข้างหน้า
ในการพัฒนาของระบบศิลปะที่เป็นเอกเทศจากระบบการขับเคลื่อนของสังคม เห็นได้จากการสร้างผลงานในแบบต่างๆ ที่อิงกับยุคสมัยของศิลปะตะวันตกโดยไม่อิงกับประวัติศาสตร์สังคมไทย ซึ่งข้อดีคือการทำให้วงการศิลปะสามารถเจริญเติบโตเท่าทันกับศิลปะในเวทีนานาชาติ การเกิดขึ้นของพื้นที่ทางศิลปะ อย่างเช่น หอศิลป์ ห้องแสดงงาน และพิพิธภัณฑ์ ตามแบบอย่างตะวันตกจึงเป็นพื้นที่ที่สามารถจัดแสดงนิทรรศการ หรือโชว์ผลงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ กล่าวคือ มีการเข้าชมงานของนักศึกษา มีการวิจารณ์งานศิลปะ มีการคัดสรรงานศิลปะโดยภัณฑารักษ์ มีการสร้างเครือข่ายการทำงานของศิลปิน สามารถเชื่อมโยงบุคคลหลากหลายบทบาทในวงการศิลปะทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สิ่งเหล่านี้ส่งคุณประโยชน์ต่อวงการศิลปะของไทยเป็นอย่างสูง ในขณะเดียวกันบุคคล
ภายนอกที่มีวิถีชีวิตแบบอื่นๆ เช่น พนักงานบริษัท พ่อค้าแม่ค้า หรือบุคคลอื่นที่มีอาชีพรับจ้างต่างๆ ถูกกีดกันออกจากวงการศิลปะอย่างไม่ตั้งใจ ประเด็นนี้ทำให้ศิลปินบางกลุ่มเริ่มผันตัวเองและสร้างผลงานศิลปะออกไปสู่ผู้คนและสู่พื้นที่ทางสังคมที่ถูกละเลยมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล มานิต ศรีวานิชภูมิ หรือ วสันต์ สิทธิเขตต์ ฯลฯ แม้แต่โครงการศิลปะต่างๆ ก็ถูกขยับขยายพื้นที่ออกไปด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น โครงการเชียงใหม่จัดวางสังคม HERE AND NOW ฯลฯ
ทั้งผลงานของศิลปินและโครงการเหล่านี้ล้วนเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างพื้นที่ทางสังคมที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตอันหลากหลายของผู้คนในปัจจุบัน ซึ่งความสำคัญนี้ได้ถูกมองข้ามอย่างไม่ตั้งใจในยุควิวัฒนาการก่อนหน้านี้ พื้นที่ทางศิลปะที่เริ่มเกิดขึ้นทำให้ศิลปะสามารถแทรกซึมสู่ชีวิตประจำวันของผู้คนได้อีกครั้งหนึ่งเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต พื้นที่เหล่านี้สามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการรับรู้งานศิลปะ และส่งผลสำคัญทั้งต่อโครงสร้างของศิลปะและสังคม ในทัศนะนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าให้ความสำคัญและศึกษาถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ในการอยู่ร่วมกันระหว่างศิลปะผู้คน และพื้นที่สาธารณะในสังคม
แผนดำเนินงานที่ 1
หอศิลป์บริการ ณ วินมอเตอร์ไซด์
แผนงานดำเนินงานที่ 1 นี้คือโครงการแรกของหอศิลป์บริการในการวิจัยพื้นที่ทางศิลปะที่เคลื่อนไหวสอดคล้องไปกับการใช้ชีวิตในสังคมเมืองประจำวันที่สามารถให้บุคคลหลายกลุ่มสามารถเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ของศิลปะได้โดยไม่จำเป็นต้องปลีกตัวออกจากการดำเนินชีวิตประจำวันอันมีจำนวนเวลาอันน้อยนิดและมีอยู่อย่างจำกัด ถ้าจะกล่าวถึงสังคมเมืองหรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบันสิ่งที่เชื่อมโยงการสัญจรอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เห็นจะไม่พ้นการคมนาคมที่ต้องใช้มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ในช่วงเวลาที่ผ่านมามอเตอร์ไซด์รับจ้างถูกกล่าวถึงในแวดวงวิชาการในหลากหลายมิติ เช่น ผลงานวิจัยของ เคลาดิโอ โซปรานเซนติ ซึ่งพูดถึงมอเตอร์ไซด์รับจ้างในฐานะผู้เชื่อมส่วนต่างๆ ของเมืองไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุที่มอเตอร์ไซด์รับจ้างสามารถเข้าตามตรอกซอกซอยของกรุงเทพฯ ได้อย่างทั่วถึง เคลาดิโอ โซปรานเซนติ กล่าวถึงความเป็นมาของถนนในกรุงเทพฯ ว่าเกิดจากการร่วมมือของประเทศสหรัฐฯและประเทศไทยที่ “ให้ผู้เชี่ยวชาญชาวสหรัฐฯ วางแผนพัฒนาให้ กทม. กลายเป็นเมืองที่ต้องเดินทางโดยใช้รถยนต์เป็นหลัก ส่งผลให้มีการตัดถนนใหญ่จากนอกกรุงเทพฯเข้ามาในเมือง ปัญหาที่ตามมาคือ รัฐบาลไทยรับแผนแม่บทนี้แค่บางส่วน ด้วยการสร้างแต่ถนนใหญ่ ทว่าไม่ยอมรับแนวคิดในการสร้างถนนเล็กส่งผลให้กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยจำนวนมากที่ไม่เชื่อมโยงกัน แต่ละซอยก็มักมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว กทม. ขยายตัวขึ้นพร้อมกับจำนวนประชากรและรถยนต์ส่วนตัว และปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว ด้วยระบบถนนที่มีเพียงถนนใหญ่และซอยจำนวนมาก รัฐจึงไม่สามารถพัฒนาระบบคมนาคมสาธารณะได้ เพราะรถเมล์ รถไฟฟ้าไม่สามารถวิ่งเข้าไปในซอย ส่วนคนที่อยู่ในซอยก็จำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว และผู้ที่เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็คือ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง (มติชน ฉบับ 1566)
ดังจะเห็นได้ว่ามอเตอร์ไซด์รับจ้างมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ แผนงานดำเนินงานวิจัย 1 ของโครงการหอศิลป์บริการนี้จึงเป็นการนำพื้นที่และบทบาทของมอเตอร์ไซด์รับจ้าง มาวิจัยเพื่อทดลองหาพื้นที่ใหม่ทางศิลปะ โดยจุดประสงค์เพื่อให้ศิลปะนั้นสอดคล้องและเคลื่อนไหวไปกับความเป็นอยู่ของผู้คนและวิถีของสังคมเมืองที่แท้จริง
จุดประสงค์
1. เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ทางศิลปะกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมเมือง
2. เพื่อสร้างพื้นที่ทางเลือกให้กับศิลปะ ตลอดจนเติมเต็มข้อจำกัดและเงื่อนไขของพื้นที่ศิลปะตามสถาบันหลัก ในหอศิลป์ หรือแกลเลอรี่ต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
3. เพื่อเป็นหนทางในการผลักดันขอบเขตพื้นที่ทางศิลปะสู่การเชื่อมโยงการทำงานศิลปะของทั้งศิลปินและบุคคลอื่นๆ ในวงการศิลปะเป็นเครือข่าย
4. เพื่อทำการวิจัยเก็บบันทึกในลักษณะของข้อความ วีดีทัศน์ เพื่อการประกอบทำเป็นจดหมายเหตุข้อมูลการศึกษา เพื่อที่จะนำไปศึกษาตีความก่อให้คุณประโยชน์ในภายภาคหน้า
5. เพื่อเป็นการสร้างแผนแม่บทในการจัดกิจกรรมทางศิลปะอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ประชาชนทั่วไปสามารถมีโอกาสได้ประสบการณ์ทางศิลปะและสามารถการรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวทางศิลปะ
2. พื้นที่ทางเลือกทางศิลปะที่สามารถประสานไปกับชีวิตของผู้คนได้อย่างแท้จริง
3. ความสนใจของบุคคลต่างๆ ในวงการศิลปะในพื้นที่ทางศิลปะในลักษณะนี้ เพื่อไห้มีการต่อยอดและเชื่อมโยงพื้นที่ศิลปะกับพื้นที่สาธารณะ
4. ความเข้าใจในการมองเห็นพื้นที่สาธารณะเช่นนี้ที่ไม่ใช่ตัวงานศิลปะ แต่เป็นพื้นที่ทางศิลปะ ที่เปิดให้มีการจัดนิทรรศการของศิลปินโดยทั่วไปเหมือน เช่น แกลเลอรี่และหอศิลป์ต่างๆ
5. ผลตอบรับและการวิจารณ์จากกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องต่างๆเพื่อนำมาปรับปรุงในการวิจัยแผนงานโครงการขั้นต่อไป